น้ำมันหล่อลื่นควรมีคุณสมบัติอย่างไร? ก่อนการใช้งาน

รู้หรือไม่? น้ำมันหล่อลื่นควรมีคุณสมบัติอย่างไรก่อนการถูกนำมาใช้งาน??

การดูแลรักษารถยนต์นั้น ไม่เพียงแต่ต้องเปลี่ยนยางหรือแบตเตอรี่เท่านั้น ยังต้องมีการเปลี่ยนถ่ายของเหลวต่าง ๆ ที่ต้องเปลี่ยนตามระยะเวลาการใช้งานอีกด้วย เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำยาหล่อเย็นและน้ำหม้อน้ำ และน้ำยาฉีดกระจก ซึ่งแต่ละของเหลวแต่ละชนิดดังที่ได้กล่าวมานี้ จำเป็นต้องมีความหนืดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานของเครื่องยนต์ ที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ด้วย โดยวันนี้เราก็จะมาพูดถึงของเหลวที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นเป็นหลักว่าควรมีลักษณะและคุณภาพการใช้งานอย่างไร

 

น้ำมันหล่อลื่น คือ?

         น้ำมันหล่อลื่น เป็นของเหลวที่ช่วยในการหล่อลื่นเครื่องยนต์ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อลดความฝืดของเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ ช่วยระบายความร้อนโดยอาศัยน้ำมันหล่อลื่นเป็นตัวถ่ายเทเพื่อยืดอายุการใช้งานเครื่องจักร เครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยขจัดคราบสกปรกที่อาจเกาะติดกับชิ้นส่วนของโลหะ และกระจายเขม่า สิ่งสกปรกไม่ให้จับตัวกันเป็นก้อนอีกด้วย

น้ำมันหล่อลื่นผลิตได้จากน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน อาจเป็นน้ำมันแร่หรือน้ำมันสังเคราะห์กับสารเพิ่มคุณภาพที่เหมาะกับการใช้งานของน้ำมันหล่อลื่นประเภทนั้น ๆ ดังนั้น น้ำมันหล่อลื่นที่ดีจึงต้องมีสมบัติต่าง ๆ ที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานแต่ละประเภท โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้

 

1.ความหนืด (Viscosity) เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญมากกับน้ำมันหล่อลื่น เพราะควรมีความหนืดที่เหมาะสมในการสามารถไหลผ่านจุดต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ ไม่ควรมีความหนืดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีของโลหะได้ง่ายและสึกหรอได้เร็ว ดังนั้นจึงต้องมีการวัดคุณสมบัติด้านการต้านทานการไหลของน้ำมันหล่อลื่น สามารถตรวจสอบคุณภาพความหนืดของน้ำมันด้วย เครื่องทดสอบหาค่าความหนืด 

 

2.ดัชนีความหนืด (Viscosity Index) ความหนืดของน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นน้ำมันจะหนืดน้อยลง และจะหนืดมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิต่ำลง จึงมีการวัดอัตราการเปลี่ยนแปลงนี้ออกมาเป็นค่าดัชนีความหนืด หรือที่เรียกว่า Viscosity Index (VI) ถ้าน้ำมันหล่อลื่นมีความหนืดเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมาก แสดงว่าน้ำมันหล่อลื่นนั้นมีค่า VI สูง ทำให้การหล่อลื่นมีประสิทธิภาพสูง การสึกหรอลดลง แต่ถ้าความหนืดของน้ำมันเปลี่ยนแปลงมากเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยแสดงว่าน้ำมันนั้นมีค่า VI ต่ำ การหล่อลื่นมีประสิทธิภาพต่ำด้วย

3.จุดวาบไฟ (Flash Point) คืออุณหภูมิต่ำสุดของน้ำมันที่เกิดเป็นไอในปริมาณที่เพียงพอ เมื่อสัมผัสเปลวไฟจะทำให้เกิดการวาบของเปลวไฟแล้วดับในทันที การวิเคราะห์หาจุดวาบไฟ จะบ่งบอกความปลอดภัยในการเก็บรักษาและการขนถ่าย เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย

และจุดติดไฟ คือจุดที่อุณหภูมิต่ำสุดของน้ำมันที่จะเกิดไอน้ำมันขึ้น และทำให้มีเปลวไฟลุกขึ้นอย่างต่อเนื่องนานไม่ต่ำกว่า 5 นาที โดยทั่วไปจุดติดไฟจะสูงกว่าจุดวาบไฟประมาณ 5-35 oC

 

4.จุดไหลเท (Pour Point) คือจุดที่อุณหภูมิต่ำสุดที่น้ำมันยังสามารถไหลได้ จะบอกให้ทราบว่าจะใช้น้ำมันนี้อุณหภูมิต่ำสุดที่เท่าไหร่ เพราะหากใช้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดนี้น้ำมันจะไม่ไหล ไขในน้ำมันจะอุดตันทางเดินน้ำมันและหม้อกรอง ทำให้อุปกรณ์ทำงานไม่ได้ น้ำมันที่มีปริมาณไขสูงก็จะมีจุดไหลเทที่อุณหภูมิสูง การวิเคราะห์หาจุดไหลเทจึงสามารถบอกความสามารถของการไหลของน้ำมันได้ที่อุณหภูมิต่ำได้

 

5.ความเป็นกรด (Acid Value) ผลจากสารเพิ่มคุณภาพทำให้น้ำมันหล่อลื่นมีฤทธิ์เป็นกรดก่อนการใช้งาน เมื่อใช้งานไปแล้วน้ำมันจะเกิดการเสื่อมสภาพ จากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ปริมาณกรดของน้ำมันสามารถใช้ในการควบคุมคุณภาพได้ และยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเสื่อมคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นในระหว่างการใช้งานได้อีกด้วย

 

6.การกัดกร่อนแผ่นทองแดง (Copper Strip Corrosion) การกัดกร่อนแผ่นทองแดงเป็นสมบัติที่แสดงถึงความสามารถในการกัดกร่อนของน้ำมันนั้น ๆ น้ำมันที่มีค่าการกัดกร่อนสูงจะทำให้เกิดผลเสียต่ออุปกรณ์ที่ทำมาจากโลหะทองแดง หรือวัสดุที่มีส่วนผสมของทองแดงอยุ่

 

7.ลักษณะการเกิดฟอง (Foaming Characteristics) การเกิดฟองของน้ำมันหล่อลื่นอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ในขณะใช้งาน เช่น ระบบเกียร์ ปั๊ม เนื่องจากถ้าน้ำมันมีฟองมาก อาจทำให้เกิดการหกล้น หรือเกิดช่องว่างภายในเนื้อน้ำมัน ทำให้น้ำมันไม่สามารถทำหน้าที่หล่อลื่นได้อย่างเต็มที่ หรืออาจทำให้เกิดการสึกหรอได้ โดยปกติแล้วการที่น้ำมันเป็นฟองขณะใช้งานอาจเป็นผลมาจากสารป้องกันการเกิดฟองหมดไป โดยวิธีการทดสอบจะเป่าลมเข้าไปในน้ำมันจนทั่ว ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้ววัดฟองที่เกิดไม่ควรเกิน 300 ml.

 

8.ความเป็นด่าง (Total Base Value) การที่น้ำมันหล่อลื่นมีฤทธิ์เป็นด่างก่อนการใช้งาน เป็นผลมาจากสารเพิ่มคุณภาพ และหลังการใช้งานอาจเกิดจากการเสื่อมคุณภาพของน้ำมัน การทดสอบหาปริมาณด่างในน้ำมันสามารถใช้ในการควบคุมคุณภาพของน้ำมันหรือสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเสื่อมคุณภาพของน้ำมันขณะใช้งานได้ ส่วนใหญ่จะทดสอบเฉพาะน้ำมันหล่อลื่นยานยนต์

 

9.ความคงตัวต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation Stability) ความคงตัวต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันเป็นค่าที่บ่งชี้ถึงความเสถียรของน้ำมันต่อการถูกออกซิไดซ์ภายใต้สภาวะที่เร่งให้มีการออกซิไดซ์เกิดขึ้น

 

10.การป้องกันการสึกหรอและการรับแรงกด (Anti Wear) ความสามารถในการต้านทานการสึกหรอ หมายถึง คุณสมบัติหล่อลื่นที่สามารถต้านทานการสึกหรอเนื่องจากแรงกดและการขัดสีเป็นหลัก ซึ่งการสึกหรอจะแสดงออกมาในรูปร่องรอยการสึกหรอหรือเนื้อของชิ้นส่วนเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรที่สึกหรอไป

 

 

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมคู่มือองค์ความรู้เกี่ยวกับน้ำมันหล่อลื่นได้จาก กรมธุรกิจพลังงาน
กระทรวงพลังงาน

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

เครื่องยนต์รุ่นต่างๆ ที่ได้รับความนิยม

น้ำมันเครื่อง เรื่องที่ควรรู้

รวมเรื่องรถยนต์ รถจักรยานยนต์ พาหนะอื่น ๆ

 

 

 

 

Scroll to Top